วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประวัติเทคนิคการแพทย์


     ปีพุทธศักราช 2487 คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลปัจจุบัน) ขาดแคลนบุคลากรที่จะทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ จึงโยกย้ายนพยาบาลบางส่วนมาฝึกหัดตรวจวิเคราะห์ ก่อให้เกิดปัญหาการใช้บุคลากรไม่ตรงตามเป้าหมายการผลิต หลวงลิปิธรรมศรีพยัตต์ (ลิ ศรีพยัตต์) ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลขณะนั้น ได้นำปัญหาดังกล่าวเสนอพระอัพภันตราพาธพิลาศ (กำจร พลางกูร) อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาปัญหาและร่างหลักสูตร เพื่อผลิตบุคลากรที่ตรงตามสายงาน แต่โครงการต้องระงับไป เพราขาดแคลนงบประมาณเนื่องจากอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองพอดี

      ปีพุทธศักราช 2497 หลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์ ( ศาสตราจารย์ นพ.เฉลิม พรมมาส) อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์คนต่อมา ได้รื้อฟื้นโครงการขึ้นมาใหม่ โดยขอความช่วยเหลือจากองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID ในปัจจุบัน) ซึ่งได้รับการตอบสนองให้ความสนับสนุนด้วยดี ทางมหาวิทยาลัยจึงร่างหลักสูตรตามแบบที่ใช้ในประเทศอเมริกาขณะนั้น คือรับบุคคลที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มาฝึกอบรมระดับอนุปริญญาต่ออีก 3 ปี และเพื่อเตรียมความพร้อมในหลักสูตรดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2498 มหาวิทยาลัย แพทยศาสตร์ได้ส่ง นพ.วีกูล วีรานุวัตติ์ และ นพ.เชวง เดชะไกศยะ ไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับเทคนิคการแพทย์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 1 ปี
       องค์การบริหารวิเทศกิจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความเห็นชอบโครงการผลิตบุคลากร เพื่อทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ที่มหาวิทยาลัยแพทย์ขอรับการสนับสนุน โดยได้ลงนามให้ความช่วยเหลือ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2499 และเริ่มก่อสร้างโรงเรียนเพื่อฝึกอบรมขึ้นที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมกันนั้น องค์การบริหารวิเทศกิจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ส่ง Dr.Robert W. Prichard มาเป็นที่ปรึกษาโครงการ โดยมี นพ.สวัสดิ์ แดงสว่าง, พันโทนิตย์ เวชวสิสติ, ศาสตราจารย์ นพ.กำธร สุวรรณกิจ และ นพ.วีกูล วีรานุวัตติ์ เป็นคณะกรรมการร่างหลักสูตรขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้ใช้ชื่อว่า "เทคนิคการแพทย์" หลักสูตรในระยะแรก ตั้งแต่รุ่นที่ 2 ถึงรุ่นที่ 7 มีการสอนถ่ายภาพเอกซเรย์และล้างฟิล์มร่วมด้วย

       นักศึกษาเทคนิคการแพทย์รุ่นแรกของประเทศไทย รับโอนมาจากนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มาเรียนเตรียมเทคนิคการแพทย์ปีที่ 1 โดยใช้สถานที่และอาจารย์ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) ซึ่งนักศึกษาเทคนิคการแพทย์รุ่นแรกของประเทศไทยมีเพียง 5 คนเท่านั้น วันที่ 13 พฤษภาคม 2499 มีประกาศกฤษฎีกาจัดตั้ง "โรงเรียนเทคนิคการแพทย์" สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข (ลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 73 ตอนที่ 40 วันที่ 15 พ.ค.2499) โดยมีภารกิจหลัก 2 ประการคือ จัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตนักเทคนิคการแพทย์ และให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการแก่ผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นักศึกษาเทคนิคการแพทย์รุ่นแรกของประเทศไทย สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาเทคนิคการแพทย์ (อทกพ.) เมื่อเดือนมีนาคม 2500
       ต่อมาก็มีประกาศกฤษฎีกาจัดตั้ง "คณะเทคนิคการแพทย์" เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2500 (ลงในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 74 ตอนที่ 60 วันที่ 9 ก.ค.2500) โดยมี นพ.วีกูล วีรานุวัตติ์ เป็นคณบดีท่านแรก ซึ่งนับเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์เทคนิคการแพทย์ในประเทศไทย นับแต่นั้นเป็นต้นมา


       ปีพุทธศักราช 2503 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้ปรับขยายหลักสูตรจากอนุปริญญา เป็นระดับปริญญาตรี (ปรับก่อนประเทศสหรัฐอเมริกาถึง 2 ปี) โดยรับนักศึกษาอนุปริญญาปีสุดท้าย ที่มีคะแนนตลอดหลักสูตรเกิน 70% มาศึกษาต่ออีก 1 ปี ได้วุฒิวิทยาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) ซึ่งบัณฑิตรุ่นแรกที่มีคุณวุฒิ วท.บ. (เทคนิคการแพทย์) มีเพียง 3 คนเท่านั้น
       ต่อมา ปีพุทธศักราช 2547 มีการตราพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ.2547 เป็นผลให้มีสภาเทคนิคการแพทย์ และคณะกรรมการสภาวิชาชีพขึ้นเป็นครั้งแรก  โดยมี รศ.สมชาย วิริยะยุทธกร ดำรงตำแหน่งนายกสภาเทคนิคการแพทย์เป็นคนแรก
       จากวันนั้น ถึงวันนี้ วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ของเรา ได้หยั่งรากลึกในหน้าประวัติศาสตร์มาแล้วกว่ากึ่งศตวรรษ จากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพียงแห่งเดียว ได้แตกดอกออกกอไปสู่มหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก จากบัณฑิตรุ่นแรกทีมีเพียง 3 คน ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นหลายพันคน กระจายกันออกไปรับใช้สังคมอยู่ในส่วนต่างๆ ของประเทศ นี่ย่อมเป็นประจักษ์พยานบ่งชี้ว่า วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ มีบทบาทสำคัญต่อระบบสุขภาพของคนไทยมาช้านานแล้ว

สาขาวิชาการเรียนการสอนในสาขาเทคนิคการแพทย์นั้น ครอบคลุมสาขาวิชาต่าง ๆ ดังนี้

• สาขาเคมีคลินิก (Clinical chemistry)
• สาขาจุลชีววิทยาคลินิก (Clinical microbiology)
• สาขาจุลทรรศนศาสตร์คลินิก (Clinical Microscopy)
• สาขาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด (Transfusion medicine)
• สาขาปรสิตวิทยา
• สาขาภูมิคุ้มกันวิทยา
• สาขาโลหิตวิทยา







การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ


         ในอดีตผู้ที่จะประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ได้นั้น จะต้องจบหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) และต้องขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ซึ่งออกโดยกองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์จะต้องขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ จาก สภาเทคนิคการแพทย์ในบางมลรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น ใน มลรัฐฮาวายมลรัฐแคลิฟอร์เนียมลรัฐฟลอริดามลรัฐเนวาดา และมลรัฐลุยเซียนา เป็นต้น นักเทคนิคการแพทย์จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามกฎหมาย และจะต้องมีการศึกษาต่อเนื่องเพื่อต่ออายุใบอนุญาตเป็นประจำ

คำนำหน้าชื่อและอักษรย่อ


          ในประเทศไทย นักเทคนิคการแพทย์สามารถใช้คำนำหน้าชื่อ เพื่อแสดงถึงการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ได้ โดยให้ผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ชาย ใช้คำนำหน้าชื่อ "ทนพ." และผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์หญิง ใช้คำนำหน้าชื่อ "ทนพญ."สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกา นักเทคนิคการแพทย์จะใช้อักษรย่อว่า "MT" ซึ่งมาจาก "Medical technologist(เรียกสั้น ๆ ว่าMed tech)" ซึ่งคล้าย ๆ กับแพทย์ที่ใช้อักษรย่อคำว่า "MD" ย่อมาจาก Medical Doctor และ พยาบาลจะใช้คำย่อว่า "RN" ซึ่งย่อมาจาก Registered Nurse และถ้าหากนักเทคนิคการแพทย์ที่ผ่านการรับรองจาก "ชมรมพยาธิวิทยาคลินิกแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ American Society for Clinical Pathology" ก็อาจจะใช้คำย่อว่า "MT(ASCP)" และเช่นเดียวกัน ถ้าหากผ่านรับการรับรองจาก "สมาคมธนาคารเลือดแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ American Association of Blood Banks ก็สามารถใช้ชื่อย่อว่า "SBB" ได้เช่นกัน โดยสามารถเขียนอักษรย่อเป็น "MT(ASCP)SBB"
                                                                           

หน้าที่ของนักเทคนิคการแพทย์


นักเทคนิคการแพทย์นั้นมีหน้าที่ในการเก็บตัวอย่างได้แก่ การเจาะเลือดผู้ป่วย ผู้มารับบริการ ทางเส้นเลือดดำ เส้นเลือดปลายนิ้วเป็นต้น หากสิ่งส่งตรวจจากผู้เข้ามารับบริการ เช่น เลือด ปัสสาวะ อุจจาระ ได้ถูกส่งต่อมา นักเทคนิคการแพทย์จะมีหน้าที่ในกระบวนการตรวจสอบคุณภาพก่อนการวิเคราะห์ โดยจะทำการตรวจสอบชื่อและสิ่งส่งตรวจของผู้ป่วยว่าเป็นคนเดียวกัน และคุณภาพของสิ่งส่งตรวจว่าเหมาะสมสำหรับนำมาทดสอบทางห้องปฏิบัติการหรือไม่ เนื่องจากสิ่งส่งตรวจที่ไม่เหมาะสมจะมีผลต่อการผลทดสอบด้วย
หลังจากนั้น จะนำสิ่งส่งตรวจไปทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เพื่อวินิจฉัย พยากรณ์ ติดตาม หรือประเมินสุขภาวะของผู้เข้ามารับบริการ ซึ่งจะรายงานผลให้แก่แพทย์หรือผู้ป่วยได้ทราบต่อไป
          นอกจากนั้น นักเทคนิคการแพทย์ยังต้องควบคุมคุณภาพต่าง ๆ ภายในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ อาทิเช่น การควบคุมคุณภาพของการรับสิ่งส่งตรวจ ขั้นตอนระหว่างการทดสอบ และตรวจสอบความถูกต้องของผลทดสอบ โดยปกตินั้น นักเทคนิคการแพทย์จะทำการลงชื่อเพื่อรับรองผลการทดสอบทุกครั้งก่อนรายงานผลทางห้องปฏิบัติการ

การประกอบอาชีพ

นักเทคนิคการแพทย์สามารถทำงานในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ทั้งในภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ ยังสามารถทำงานอย่างอื่นได้ เช่น เป็นผุ้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เครื่องมือและน้ำยาทางการแพทย์ หรือศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาได้ในหลายสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์ได้